วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ปัจจัยเสี่ยง ตับพัง


ปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เช่น การออกกำลังกาย ทานอาหารคลีน ทานอาหารเสริมต่างๆ ซึ่งในบรรดาการดูแลสุขภาพเหล่านั้นเป็นผลดีต่อตับในระดับหนึ่ง 

เมื่อตับผิดปกติ หากเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตับสามารถที่จะฟื้นฟูตัวเองได้  แต่ถ้าหากตับต้องเผชิญกับปัจจัยที่เป็นอันตรายต่อตับอยู่ทุกวัน ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม เช่น การเจ็บป่วยระยะยาว ไขมันแทรกในตับ ไขมันสะสมในตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ

5 ปัจจัยเสี่ยงตับพัง

อาหารและน้ำดื่ม ควรจะสะอาดเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบA ซึ่งเกิดจากการทานอาหารต่างๆ เช่น ผักสด ผลไม้ น้ำดื่ม ที่ปนเปื้อน หรืออาหารไม่สุก ไม่สะอาด เป็นต้น การบำรุงตับไม่จำเป็นต้องเลือกอาหารทานเป็นพิเศษ แค่รับประทานให้ครบ 5 หมู่อย่างเหมาะสม และหลีกเหลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อตับ เช่น อาหารที่ปนเปื้อนเชื้ออะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา โดยสามารถเจอได้ในมล็ดธัญพืช โดยเฉพาะในถั่วเมล็ดแห้ง และเมล็ดพืชน้ำมันชนิดต่างๆ พริกแห้ง ฯลฯ  ควรงดกินปลาดิบ เพื่อป้องกันพยาธิใบไม้ในตับ ส่วนผู้ที่มีอาการตับอักเสบหรือตับแข็งในระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องได้รับสารอาหารให้ครบทุกหมูู่อย่างเพียงพอ เพื่อช่วยให้ตับสามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและพบแพทย์ ห้ามผู้ป่วยซื้อยาทานเองเป็นอันขาด

เลือดและการมีเพศสัมพันธ์ ในประเทศไทยพบว่าประมาณร้อยละ 5 เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะจากเลือดและการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้แปรงสีฟัน กรรไกรตับเล็บ การใช้มีดโกนร่วมกับผู้อื่น หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบอยู่แล้ว ก็อาจทำให้คุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี ก็ได้ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจทำให้เป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด ทั้งนี้โอกาสผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อนี้มีจะเสี่ยงต่อมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึง 223 เท่า

ยา การทานยาหรืออาหารเสริมต่างๆ มีผลข้างเคียงต่อตับได้ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกำจัดของเสียหรือยาต่างๆ ออกจากร่างกาย ดังนั้นการได้รับยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆจะรบกวนการทำงานของตับหรืออาจจะเป็นการทำร้ายตับ เนื่องจากตับไม่สามารถจะกำจัดสิ่งตกค้างจากยาเหล่านี้ได้ทัน เหลือเป็นส่วนเกินและมีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อตับจนเกิดภาวะตับวาย ในปัจจุบันยาที่เป็นอันตรายต่อตับแต่เรามักมองข้าม เช่น "พาราเซตามอล" คนที่ไวต่อยาพาราเซตามอล หากทานเกิน 2 กรัมขึ้นไป อาจจะทำให้เกิดตับอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมี ยาแก้ปวด 
ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด และยาปฎิชีวนะ ยาลูกกลอนหรือยาสมุนไพรต่างๆที่ไม่ได้มาตรฐาน  ดังนั้นจึงไม่ควรทานยาเหล่านี้เป็นเวลาต่อเนื่องนานๆ 

เครื่องดื่มแอลกฮอล์ แอลกฮอล์จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ ในระยะแรกจะทำให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นแต่เมื่อดื่มแอลกฮอล์นานเข้าจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบตามมา และเรื้อรังจนเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับจนเสียชีวิต หากผู้ที่ดื่มมานานแล้วมีโรคไวรัสตักอักเสบบี หรือ ซี ร่วมอยู่ด้วยจะทำให้เกิดอันตรายต่อตับอีกหลายเท่า ดังนั้นการเกิดตับแข็งหรือมะเร็งตับจะเกิดได้ง่ายขึ้น
แนวทางสำคัญในการป้องกันคืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ควรเริ่มโดยการลดปริมาณการดื่ม และไม่ดื่มเป็นประจำ หันมาทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และหากโรคตับอักเสบมีสาเหตุมาจากแอลกฮอล์ ดังนั้นคุุณจำเป็นต้องทานอาหารให้ครบทุกหมู่ เพื่อให้สุขภาพฟื้นฟูได้เร็วขึ้น

สารพิษ การได้รับสารพิษเป็นประจำและต่อเนื่องจะทำให้เกิดอันตรายต่อตับได้เช่นกัน เช่น สารหนู(arsenic) ที่พบปนเปื้อนในยาหอม ปลาหมึกแห้ง รวมทั้งในอาหารต่างๆ และสิ่งแวดล้อม หากร่างกายรับเข้าไปมากจะไปสะสมที่ตับและทำลายระบบการทำงานของตับ ทำให้ตับทำงานหนักและเกิดการอักเสบตามมาในที่สุด  แนวทางป้องกันจึงควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เราได้รับสารพิษ รวมทั้งหลีกเหลี่ยงการทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงต่อเนื่องในปริมาณมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการกระตุ้นให้มีไขมันแทรกในตับ และควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบ 


วิธีพื้นฐานของการดูแลตับที่สำคัญ

  • ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกฮอล์
  • ทานอาหารที่สะอาด
  • มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ไม่สำส่อน
  • ไม่ใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น 
  • ทานยาที่ได้มาตรฐานเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงสารเคมี
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ
  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

อ้างอิง หน้าพิเศษ Hospital Healthcare นสพ.มติชน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น